วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเรียนร่วมและการเรียนรวม

ความหมายของการเรียนร่วม
                การเรียนร่วม หมายถึง การจัดให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กพิการเข้าไปในระบบการศึกษาทั่วไป มีการร่วมกิจกรรมและใช้ช่วงเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งในแต่ละวันระหว่างเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กพิการกับเด็กทั่วไป
                การเรียนร่วมในแนวคิดใหม่ เป็นความร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกัน (Collaboration) ระหว่างครูทั่วไปและครูการศึกษาพิเศษในโรงเรียน เพื่อดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนและบริการต่าง ๆ ให้กับนักเรียนในความดูแล


ความหมายของการเรียนรวม
                การเรียนรวม หมายถึง การรับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก หรือคัดแยกเด็กที่ด้อยกว่าเด็กส่วนใหญ่ออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้การบริหารจัดการและวิธีการในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล




โรคแอสเพอร์เกอร์
(Asperger's Disorder)

                โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger's Disorder) หรือที่เดิมเรียกว่า แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome) เป็นความบกพร่องของพัฒนาการรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว อยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคออทิสติก (Autistic Disorder) แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดอยู่บ้างพอสมควร
           นับเป็นเวลา 70 กว่าปีแล้วที่มีการรายงานผู้ป่วยโรคนี้ และมีการพูดถึงก่อนที่นายแพทย์ ลีโอ แคนเนอร์ (Leo Kanner) จิตแพทย์ สถาบันจอห์น ฮอปกินส์ จะรายงานผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการของโรคออทิสติกด้วยซ้ำ โดยตั้งแต่ปี ค.ศ.1934 นายแพทย์ ฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) กุมารแพทย์ ชาวออสเตรีย พูดถึงเด็กที่มีลักษณะเข้าสังคมลำบาก หมกมุ่นกับการทำอะไรซ้ำๆ ประหลาดๆ แต่กลับพูดเก่งมาก และดูเหมือนจะฉลาดมากด้วย แต่ด้วยวิกฤตหลังสงครามโลกครั้งที่สองทำให้ไม่มีใครสานต่องานวิจัย จึงเงียบหายไปจนนักวิจัยรุ่นหลังนำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง

ลักษณะอาการและการวินิจฉัย
                เกณฑ์การวินิจฉัยโรคแอสเพอร์เกอร์ ตามคู่มือการวินิจฉัยโรค DSM-IV โดยสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Psychiatric Association's Diagnostic and Statistic Manual of Mental Disorder - Forth Edition, 1994) จัดโรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger's Disorder) อยู่ในกลุ่ม การวินิจฉัยโรคที่เรียกว่า พีดีดี ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน (PDDs – Pervasive Developmental Disorders)

หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคแอสเพอร์เกอร์
                A. มีคุณลักษณะในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ผิดปกติ โดยแสดงออกอย่างน้อย 2 ข้อต่อไปนี้
                                1. บกพร่องอย่างชัดเจนในการใช้ท่าทางหลายอย่าง (เช่น การสบตา การแสดงสีหน้า กิริยา หรือท่าทางประกอบการเข้าสังคม)
                                2. ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนในระดับที่เหมาะสมกับอายุได้
                                3. ไม่แสดงความอยากเข้าร่วมสนุก ร่วมทำสิ่งที่สนใจ หรือร่วมงานให้เกิดความสำเร็จกับคนอื่นๆ (เช่น ไม่แสดงออก ไม่เสนอความเห็น หรือไม่ชี้ว่าตนสนใจอะไร)
                                4. ไม่มีอารมณ์หรือสัมพันธภาพตอบสนองกับสังคม
                B. มีพฤติกรรม ความสนใจ หรือกิจกรรมที่จำกัด ซ้ำๆ เป็นแบบแผน โดยแสดงออกอย่างน้อย 1 ข้อ ต่อไปนี้
                                1. หมกมุ่นกับพฤติกรรมซ้ำๆ (stereotyped) ตั้งแต่ 1 อย่างขึ้นไป และความสนใจในสิ่งต่างๆมีจำกัด ซึ่งเป็นภาวะที่ผิดปกติทั้งในแง่ของความรุนแรงหรือสิ่งที่สนใจ
                                2. ติดกับกิจวัตร หรือย้ำทำกับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีประโยชน์โดยไม่ยืดหยุ่น
                                3. ทำกิริยาซ้ำๆ (mannerism) (เช่น เล่นสะบัดมือ หมุน โยกตัว)
                                4. สนใจหมกมุ่นกับเพียงบางส่วนของวัตถุ
                C. ความผิดปกตินี้ ก่อให้กิจกรรมด้านสังคม การงาน หรือด้านอื่นๆที่สำคัญ บกพร่องอย่างมีความสำคัญทางการแพทย์
                  D. ไม่พบพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้า อย่างมีความสำคัญทางการแพทย์
                E. ไม่พบพัฒนาการทางความคิดที่ช้า อย่างมีความสำคัญทางการแพทย์ หรือมีความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง พฤติกรรมการปรับตัว และมีความอยากรู้เห็นในสิ่งรอบตัวในช่วงวัยเด็ก
               F. ความผิดปกติไม่เข้ากับ พีดีดี ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน ชนิดเฉพาะอื่น หรือโรคจิตเภท (Schizophrenia)

ระบาดวิทยา
                การศึกษาด้านระบาดวิทยา พบว่ามีความชุกของโรคประมาณ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งถ้าเทียบกับออทิสติกแล้ว พบว่ามีความชุกสูงกว่าเล็กน้อย

การดูแลรักษา
                โรคแอสเพอร์เกอร์ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะเจาะจงให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถช่วยเหลือให้มีพัฒนาการทางด้านสังคมดีขึ้นได้มาก สามารถช่วยให้เด็กเรียนรู้ และใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้ตามปกติ สำหรับแนวทางในการดูแลรักษาใช้แนวทางเดียวกับการดูแลรักษาผู้ที่เป็นออทิสติก โดยเน้นแก้ไขในด้านที่เป็นปัญหา ควบคู่ไปกับการส่งเสริมในด้านที่เป็นความสามารถของเด็ก เป็นสำคัญ



เด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมอารมณ์

คำจำกัดความ
                สำนักงานการศึกษาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้คำจำกัดความของเด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมอารมณ์ไว้ดังนี้ (Reynolds and Birch, 1997)
          เด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรม หมายถึง เด็กที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1.ไม่สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป และการที่เด็กไม่สามารถเรียนได้ดังนั้น มิได้มีสาเหตุมาจากองค์ประกอบทางสติปัญญา การรับรู้และสุขภาพ หรือ  ความบกพร่องทางร่างกาย
2. ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนนักเรียนด้วยกันหรือครูได้
3. มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กปกติอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน
4. มีพฤติกรรมคับข้องใจ และมีความเก็บกดทางอารมณ์
5. แสดงอาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือมีความหวาดกลัวเมื่อมีปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาทางด้านการเรียน
                เด็กอาจมีลักษณะเพียงข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อก็ได้ และปัญหาจะต้องเกิดขึ้นและมีมาเป็นเวลานานแล้ว

นิยามทางการศึกษาของเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม
                เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมอาจมีนิยามได้มากมาย เช่น นิยามทางจิตวิทยา นิยามทางการแพทย์ นิยามทางพฤติกรรมศาสตร์ เป็นต้น แต่ในที่นี้จะเน้นทางการศึกษา จึงมีนิยามเฉพาะทางในการศึกษา เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม มีความหมายในการศึกษาดังนี้
                เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม หมายถึง เด็กที่แสดงพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากเด็กทั่วไป และพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนนี้ เป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างเด็กกับสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตัวเด็กเอง
                นิยามเชิงปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดการศึกษา จึงควรให้นิยามที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม อาจมีนิยามเชิงปฏิบัติการดังนี้
                * เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม หมายถึง เด็กที่ถึงแม้จะได้รับการบริการทางด้านการแนะแนวและการให้การศึกษาแล้ว ก็ยังมีความบกพร่องทางด้านพฤติกรรมอยู่ในขั้นรุนแรงและมีปัญหาต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ปัญหาดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักเรียนเอง เด็กมีพัฒนาการการทางด้านการเรียนอย่างเชื่องช้า มีปัญหาในการเข้ากับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ปัญหาทางด้านพฤติกรรมดังกล่าว มิได้มีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางร่างกาย ประสาทสัมผัสทางด้านการรับรู้ หรือสติปัญญา

เกณฑ์การตัดสินเด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมอารมณ์
                1. เป็นเด็กที่มีพฤติกรรมทางอารมณ์เบี่ยงเบนไปจากเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะได้รับบริการให้คำปรึกษาแล้วยังมีปัญหาทางด้านอารมณ์ในลักษณะเดิม
                2. การประเมินทางจิตวิทยา และการสังเกตอย่างมีระบบ ระบุเด็กมีปัญหาในทางพฤติกรรมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
                3. มีพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนของตน การอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์ พัฒนาการทางสังคม พัฒนาการทางภาษา และการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง
                4. มีหลักฐานยืนยันว่าปัญหาของนักเรียนมิได้เกิดจากความบกพร่องทางร่างกาย การรับรู้ และสติปัญญา
                เด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมทั่วไป เป็นไปตามเกณฑ์ข้อ 1 4 แต่เด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมอย่างรุนแรง จะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อ คือ
                5. มีหลักฐานยืนยันว่าเด็กต้องการบำบัดรักษา การให้คำแนะนำปรึกษาทั้งเป็นรายกลุ่มและเป็นรายบุคคล และทั้งผู้ปกครองของเด็กด้วย กิจกรรมดังกล่าวต้องเป็นกิจกรรมที่มีขั้นตอนและวิธีการที่แน่นอน เพื่อให้เด็กได้รับบริการตามลำดับ
                6. มีหลักฐานยืนยันว่า บริการในโรงเรียนปกติ และบริการในโรงเรียนในโครงการโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ไม่สอดคล้องตามสภาพความบกพร่อง และความต้องการของเด็ก

การตัดสินเด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมอารมณ์
                เด็กจะต้องได้รับการทดสอบทางด้านพฤติกรรม ผู้ทดสอบอาจเป็นนักจิตวิทยา ครูการศึกษาพิเศษหรือครูแนะแนว โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เฉพาะทาง และเด็กยังต้องได้รับการทดสอบดังต่อไปนี้
                1. การตรวจสุขภาพ โดยแพทย์แผนปัจจุบัน
                2. การทดสอบทางสายตา
                3. การทดสอบทางการได้ยิน
                4. การทดสอบทางภาษาและการพูด
                5. การทดสอบทางจิตวิทยา ได้แก่ การทดสอบทางสติปัญญา การวัดบุคลิกภาพ การวัดทัศนคติ
                6. การทดสอบทางการศึกษา ได้แก่ การทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
                7. การทดสอบทางจิตวิทยา
ลักษณะของเด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมอารมณ์
                การศึกษาพฤติกรรมของเด็ก อาจกระทำได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความสนใจและจุดมุ่งหมายของการศึกษา จากการศึกษาผลงานวิจัยของนักจิตวิทยาและนักการศึกษาจำนวนมาก อาจจำแนกพฤติกรรมที่เป็นปัญหาออกได้ 2 ประเภท คือ พฤติกรรมที่เกิดจากความขัดแย้งในตัวเด็กเอง และพฤติกรรมที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างเด็กกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก การก้าวร้าวและการก่อกวนความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ และการปรับตัวที่ไม่ถูกต้อง เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการขัดแย้งระหว่างเด็กกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก ส่วนความวิตกกังวล การมีปมด้อย การหนีสังคม และความผิดปกติทางการเรียน มีสาเหตุจากความขัดแย้งในตัวเด็กเอง ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดดังนี้
                1. การก้าวร้าว ก่อกวน เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมมักแสดงออกในการก้าวร้าวก่อกวนความสงบสุขของผู้อื่น พฤติกรรมที่แสดงออกถึงการก้าวร้าวอาจรวมไปถึงการแสดงออกซึ่งความโหดร้ายทารุนสัตว์ ชกต่อย ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น ขู่ คุกคาม หวีดร้อง กระทืบเท้า ไม่เคารพเชื่อฟังครูและพ่อแม่ ฝ่าฝืนคำสั่งของครูหรือพ่อแม่ เด็กที่มีปัญหาในลักษณะนี้มักมีความขัดแย้งกับคนใกล้เคียงพฤติกรรมอาจรุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไข
                2. การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หมายถึงการไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยปราศจากจุดหมาย และไม่ได้รับอนุญาตจากครู เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมมีพฤติกรรมในลักษณะนี้ นอกจากนี้ยังมีความสนใจสั้น สนใจบทเรียนไม่ได้นาน  ขาดสมาธิในการเรียน หันเหความสนใจไปสู่สิ่งอื่นได้ง่าย เด็กที่มีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ อาจมีปัญหาทางการก้าวร้าวร่วมด้วยก็ได้ การศึกษาโดยโรบิน (Robin,1980)  พบว่ามีเด็กประเภทนี้ประมาณ 1% - 5%  ของประชากรในวัยประถมศึกษา
                3. การปรับตัวทางสังคม เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม มีการปรับตัวทางสังคมไม่ถูกต้อง ซึ่งหมายถึงการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับของสังคม เช่น แก๊งอันธพาล การทำลายสาธารณสมบัติ การลักขโมย การหนีโรงเรียน การต่อสู้ของนักเรียนระหว่างโรงเรียนที่เป็นคู่อริ การประทุษร้ายทางเพศ เป็นพฤติกรรมในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นกับเด็กวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ 
                4. ความวิตกกังวลและปมด้อย เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมอาจไม่กล้าพูดกล้าแสดงออกในชั้นเรียน บางคนมีความประหม่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อจำเป็นต้องออกไปรายงานหน้าชั้น บางคนมีอาการตัวร้อนและเป็นไข้เมื่อถึงเวลาไปโรงเรียน บางคนขาดความเชื่อมั่นในตนเองอย่างเห็นได้ชัด บางคนร้องไห้บ่อย พฤติกรรมเหล่านี้จัดเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากความวิตกกังวล หรือเกิดจากปมด้อยของแต่ละบุคคล เด็กที่มีพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม แต่ความรุนแรงของพฤติกรรมในแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไป พฤติกรรมที่ค่อนข้างรุนแรงและสม่ำเสมอเท่านั้นเป็นพฤติกรรมที่ต้องได้รับริการทางด้านการศึกษาพิเศษ
                5. การหนีสังคม การหนีสังคมหรือการปลีกตัวออกจาสังคมเป็นพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนอย่างหนึ่งของเด็กสังเกตได้จากการที่เด็กไม่พูดคุยไม่เล่นกับเพื่อน ไม่ร่วมกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดให้เด็กประเภทนี้มีลักษณะเป็นเด็กขี้อาย พูดไม่เก่ง ไม่กล้าพูดต่อหน้าสาธารณะชน บางคนเป็นคนเจ้าอารมณ์ เด็กเหล่านี้ขาดทักษะที่จำเป็นการติดต่อกับผู้อื่น ขาดความเชื่อมั่นในตนเองในด้านการพูด เด็กจึงชอบอยู่คนเดียวทำงานคนเดียว เด็กเหล่านี้อาจมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กอื่นได้แต่เป็นในลักษณะแสดงอาการก้าวร้าว ไม่มีวุฒิภาวะ หรือไม่แสดงพฤติกรรมทางสังคมที่ไม่เหมาะสม
                6. ความผิดปกติในการเรียน สังคมมักกำหนดว่าหน้าที่สำคัญของเด็กคือ การเรียน เด็กที่มีผลการเรียนดีมักเป็นเด็กที่ครูชื่นชอบ  เด็กที่เรียนไม่ดีอาจไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควรซึ่งมีผลต่อการปรับตัวของเด็ก การศึกษาวิจัยจำนวนมากระบุว่า เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมมีผลการเรียนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการอ่าน การสะกดคำ และ คณิตศาสตร์
                การตัดสินว่าเด็กคนใดเป็นเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมนั้น ความพิจารณาความรุนแรงและความส่ำเสมอควบคู่กันไปด้วย
ลักษณะของพฤติกรรม
ความรุนแรงของพฤติกรรม
ปานกลาง
รุนแรง
1. การก้าวร้าว - ก่อกวน
ชกต่อย ทำร้ายร่างกาย โกรธจัด ฝ่าฝืนกฎระเบียบ ขู่ คุกคามผู้อื่น ไม่เคารพยำเกรง ทำลายข้าวของ
ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น ทำลายข้าวของ
2.การเคลื่อนไหวผิดปกติ
อยู่นิ่งไม่ได้ ลุกลี้ลุกลน ขาดความสนใจในบทเรียนหรือสิ่งที่อยู่รอบตัว
มีการเคลื่อนไหวที่แปลก ๆ และซ้ำ ๆ ในลักษณะเดิม
3. ขาดการปรับตัวทางสังคม ที่ถูกต้อง
ลักขโมย ชกต่อย ทำลายสาธารณสมบัติ ฝ่าฝืนกฎหมาย หนีเรียน การทำผิดทางเพศ

4. ความวิตกกังวล ปมด้อย
ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง หลีกเลี่ยงสถานการณ์ปางอย่าง ร้องไห้บ่อยๆมีความวิตกกังวลสูง ความสามารถทางด้านทักษะเสื่อมลง

แสดงความผิดหวังอย่างรุนแรงต่อความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
ลักษณะของพฤติกรรม
ความรุนแรงของพฤติกรรม
ปานกลาง
รุนแรง
5. การหนีสังคม
ไม่พูดคุยกับเพื่อนหรือผู้ใกล้ชิด ไม่ยอมพบเพื่อนหรือผู้ใกล้ชิด ปฏิเสธทุกคนที่เกี่ยวข้อง
ลักษณะหลบหนีสังคมอย่างรุนแรง
6. ความผิดปกติทางการเรียน
ผลการเรียนต่ำลงทุกวิชา ความสามารถทางสมองต่ำลง
สมองเฉื่อยชา ความจำเสื่อม มีความบกพร่องทางภาษา


การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมอารมณ์
                นักการศึกษาและนักจิตวิทยาและนักพฤติกรรมศาสตร์ อาจมีการคิดเห็นปลีกย่อแตกต่างกันอยู่บ้าง ในการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรม ดังนั้นจึงแบบการช่วยเหลือเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
                1. รูปแบบทางจิตวิทยาการศึกษา นักจิตวิทยาการศึกษามีความเชื่อว่าองค์ประกอบทางชีววิทยาและการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพของเด็ก พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ตลอดจนปัญหาทางอารมณ์ล้วนมีมูลเหตุมาจากพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้องทั้งสิ้น พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อาจมีมากขึ้นหากทางบ้านและทางโรงเรียนไม่ดูแลเอาใจใส่และหาทางลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้
                ในการช่วยเหลื่อเด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมนั้น นักจิตวิทยาการศึกษามีความเชื่อว่า ทางหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลงได้คือ ให้เด็กเข้าใจปัญหาของตนเอง และยินดีที่จะหาทางขจัดปัญหานั้น ๆ การช่วยเหลือเด็กนั้นครูจะต้องทำให้เด็กเกิดความเชื่อถือ เกิดศรัทธา ทำให้เด็กมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับปัญหาของตนเอง ดังนั้นการเรียนการสอนจึงควรกระทำเป็นรายบุคคล ควรใช้เกมสถานการณ์จำลอง และกิจกรรมอื่นที่แตกต่างไปจากที่ใช้กับเด็กปกติ จึงสามารถช่วยเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                2. รูปแบบทางจิตวิทยา นักจิตวิทยาได้พบหลักการเรียนรู้และการปรับพฤติกรรมของเด็ก หลักการปรับพฤติกรรมนี้สามารถนำกลับมาใช้ในการปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ ตัวอย่างเช่น เด็กอาจจะเรียนรู้โดยการสังเกตพฤติกรรมของเด็กปกติ โดยยึดพฤติกรรมที่ดีของเด็กปกติเป็นตัวอย่าง นักพฤติกรรมศาสตร์รู้ว่า การที่ครูให้ความสนใจแก่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมเช่นนี้บ่อย ๆ ดังนั้นการปรับพฤติกรรมของเด็กจึงควรเน้นและให้ความสนใจพฤติกรรมที่พึงประสงค์เท่านั้น
                ในการช่วยเหลื่อเด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมนั้น นักจิตวิทยามีความเชื่อว่าพฤติกรรมปรับได้ ในการปรับพฤติกรรมของเด็กนั้น สิ่งแรกที่ต้องกระทำคือ พิจารณาพฤติกรรมใดบ้างที่เป็นปัญหาและมีความจำเป็นต่อการปรับ โดยการให้เพิ่มหรือลดพฤติกรรมลง หลังจากนั้นครูหรือนักจิตวิทยาอาจให้แรงเสริมเพื่อให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์มากขึ้น หรืออาจใช้เทคนิคอื่น ในการลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลง
                3. รูปแบบทางนิเวศวิทยา นักนิเวศวิทยาเชื่อว่าเด็กเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เด็กเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน และโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พฤติกรรมของเด็กควรได้รับการยอมรับทางสังคม มิฉะนั้นแล้วจะเกิดความไม่สงบในสังคมอาจพิจารณาในมุมกลับ พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสมาชิกอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรในโรงเรียนอาจเห็นว่าพฤติกรรมบางอย่างของเด็กมีปัญหา เพราะไม่สามารถสนองธรรมชาติของเด็กเหล่าได้
                ในการช่วยเหลื่อเด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมนั้น นักนิเวศวิทยาเชื่อว่าครูควรทำความเข้าใจกับทุกอย่างที่ประกอบขึ้นในระบบสังคม ทั้งนี้เพื่อหาทางขจัดสิ่งที่เป็นสาเหตุให้เด็กมีปัญหาทางพฤติกรรม เด็กอาจได้รับการปรับพฤติกรรม แต่นักนิเวศวิทยาเชื่อว่า นั้นยังเป็นการไม่เพียงพอ ควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของเด็กเท่าที่จำเป็นด้วย และรวมไปถึงการปรับทัศนคติของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนสมาชิกในชุมนุม เพื่อให้มีความเข้าใจและยอมรับเด็กมากขึ้น

การปรับพฤติกรรมของเด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมอารมณ์
                การปรับพฤติกรรม (behavior modification) เป็นขบวนการในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็ก จากพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ตลอดจนการสร้างพฤติกรรมใหม่ที่พึงประสงค์ การปรับพฤติกรรมมีหลายวิธี ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

1. การเสริมแรงเชิงบวก (Positive Reinforcement)
                การเสริมแรงเชิงบวก หมายถึง ขบวนการที่ส่งเสริมพฤติกรรมของบุคคลเพื่อให้บุคคลแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ซ้ำอีก เมื่อได้รับคำชมเชยหรือรางวัล ตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จ ครูพูดว่าเก่ง ดี วิเศษ ยอดเยี่ยม ดีมาก เป็นต้น อุปกรณ์เสริมแรงที่เป็นสิ่งของได้แก่ อาหาร เช่น ลูกกวาด อมยิ้ม เป็นต้น ของเล่น เช่น ตุ๊กตา ลูกหิน ดินน้ำมัน เป็นต้น การให้แรงเสริม ควรให้อย่างสม่ำเสมอในตอนแรกเมื่อพฤติกรรมเริ่มคงที่แล้ว ควรลดแรงเสริมลงและให้แรงเสริมเป็นครั้งคราวเท่านั้นเมื่อพฤติกรรมคงที่แล้ว


2. แรงเสริมลบ (Negative  Reinforcement)
                แรงเสริมเชิงลบ หมายถึง ขบวนการที่ส่งเสริมพฤติกรรมของบุคคลเพื่อให้บุคคลแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ซ้ำอีก เด็กแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงสภาวะที่เด็กไม่พึงพอใจ ตัวอย่างเช่น ครูบอกกับนักเรียนว่า แบบฝึกหัดคณิตศาสตร์มี 2 ตอน หากใครทำตอนแรกถูกหมด ก็ไม่ต้องทำแบบฝึกหัดตอนที่ 2 นักเรียนจึงตั้งใจทำแบบฝึกหัดในชุดแรก และทำอย่างดีให้คำตอบถูกหมด เพื่อหลีกเลี่ยงการทำแบบฝึกหัดตอนที่ 2 ดังนั้น แบบฝึกหัดตอนที่ 2 เป็นแรงเสริมทางลบ เพราะเป็นสิ่งที่เด็กต้องการหลีกเลี่ยง แต่แบบฝึกหัดตอนที่ 2 นี้ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์

3. การหยุดยั้ง (Extinction)
                เป็นการงดให้รางวัล งดให้ความสนใจต่อพฤติกรรมของเด็กซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ครูควรให้แรงเสริมแก่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ควบคู่กันไปด้วย เช่น เมื่อเด็กลูกจากที่นั่ง ครุแสดงอาการไม่สนใจ แต่เมื่อเด็กนั่งเรียบร้อยครูจะชม เป็นต้น การเพิกเฉยของครูเหมาะสมสำหรับพฤติกรรมที่ไม่รุนแรงเท่านั้น วิธีนี้ไม่เหมาะสมสำหรับพฤติกรรมที่รุนแรง เช่น การชกต่อย ซึ่งครูควรหยุดพฤติกรรมนี้ทันที

4. Token Economy
                เหรียญรางวัลเป็นการสะสมเหรียญหรือคะแนน เพื่อให้นักเรียนมีสิทธิ์ได้รับรางวัลอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือกระทำกิจกรรมที่นักเรียนชอบ โดยครูกำหนดคะแนนหรือเหรียญเป็นระดับต่าง ๆ แต่ละระดับมีรางวัลแตกต่างกัน เช่น ครูจะให้คะแนน 1 คะแนน แก่นักเรียนทุกครั้งที่ทำงานเสร็จภายในเวลาที่กำหนดให้ ถ้าใครสะสมคะแนนได้ 10 คะแนน ครูจะมีรางวัลให้ เป็นต้น การให้รางวัลควรจัดตามระดับความสำคัญของรางวัล และการให้คะแนนควรให้สำหรับพฤติกรรมที่เด็กสามารถทำได้

5. Overcorrection
                เป็นการแก้ไขผลการกระทำของเด็กและแก้ไขในปริมาณที่มากกว่าเดิม เช่น เด็กคนหนึ่งคว่ำโต๊ะเรียนในห้อง ครูจึงส่งให้เด็กตั้งโต๊ะดังเดิม จะเห็นได้ว่าการปรับพฤติกรรมนี้มี 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือ เด็กต้องแก้ไขผลการกระทำของตนเสียก่อน เช่น จัดโต๊ะให้เข้าที่ให้เรียบร้อย  ส่วนที่ 2 เป็นการให้เด็กทำในสิ่งที่ดี แต่เด็กอาจไม่ชอบ เช่น การทำความสะอาดโต๊ะเรียนทุกตัวในห้องเรียน เป็นต้น การให้เด็กกระทำเช่นนี้เป็นการลงโทษสถานเบา
6. Timeout
                เป็นการงดให้รางวัลในช่วงเวลาจำกัด เช่น นักเรียนที่คุยกันจะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ในชั่วโมงเรียนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เด็กที่ร้องให้ไม่หยุดอาจถูกส่งเข้าไป ขัง ไว้ในห้องนอนเป็นเวลา 5 นาที หรือจนกว่าจะหยุดร้องไห้ เป็นต้น การงดให้รางวัลควรกระทำให้เหมาะสม ควรงดในสิ่งที่เด็กชอบและไม่ควรงดนานจนเกินไป

7. การทำสัญญากับเด็ก (Behavioral contract)
                เป็นการทำสัญญาระหว่างครูกับนักเรียน ในลักษณะที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น นักเรียนสัญญากับครูว่าจะไม่ขโมยสิ่งของของเพื่ออีก ตลอดระยะเวลา 2 เดือน เป็นสิ่งที่จะให้เด็กทำสัญญาควรเป็นสิ่งที่นักเรียนสามารถทำได้ ระยะเวลาในสัญญาไม่ควรนานเกินกว่าที่เด็กจะทำได้ มีการตรวจสอบเด็กตลอดเวลาว่าเด็กปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่หากผิดสัญญาควรมีการลงโทษ หากปฏิบัติตามสัญญาควรให้รางวัล

8. การลงโทษ (Punishment)
                เป็นขบวนการขจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่เด็กแสดงออก และไม่ให้เด็กแสดงพฤติกรรมเช่นนี้อีกในอนาคต การลงโทษอาจเป็นการลงโทษด้วยวาจา เช่น การตำหนิ หรือการลงโทษทางกาย เช่น การเฆี่ยนตี ครูพึงระวังว่า การลงโทษเป็นการหยุดพฤติกรรม ไม่ใช่การเสริมพฤติกรรม หากลงโทษแล้ว เด็กยังแสดงพฤติกรรมดังเดิมอีก แสดงว่าการลงโทษเป็นวิธีปรับพฤติกรรมที่ไม่ประสิทธิภาพสำหรับเด็กคนนั้น

9. การหล่อหลอมพฤติกรรม (Shaping)
                เป็นการเลือกใช้แรงเสริมเฉพาะพฤติกรรมที่พึงประสงค์เท่านั้น เช่นในห้องเรียนครูชมนักเรียนที่ตั้งใจฟังครู ส่วนเด็กที่คุยกันครูไม่ตำหนิ แต่ครูจะแสดงอาการไม่สนใจ การเลือกชมเฉพาะพฤติกรรมที่พึงประสงค์ จะช่วยให้เด็กแสดงพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก

10. การเป็นแบบอย่างที่ดี (Modeling)
                ครูควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก เด็กอาจยึดครูเป็นแบบอย่างในหลายด้านในการปรับพฤติกรรม หากครูไม่สามารถเป็นแบบอย่างได้ อาจใช้นักเรียนเป็นแบบอย่างก็ได้ เช่น ตัวอย่างของการพูดเพราะ การมีสัมมาคารวะแก่ครู การขยันหมั่นเพียร  การรับผิดชอบในสิ่งที่ครูมอบหมายให้ เป็นต้น

การเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมอารมณ์กับเด็กปกติ
                การจัดเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมอารมณ์เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกตินั้น ควรพิจารณา
องค์ประกอบสำคัญดังนี้
1.             ทัศนคติของเด็กต่อการเรียนร่วม
2.             ทัศนคติของครู ผู้ปกครองต่อการเรียนร่วม
3.             พฤติกรรมของเด็กตลอดจนความรุนแรงของพฤติกรรม
4.             ความสามารถของเด็กในการควบคุมดูแลตนเองตลอดจนทักษะทางสังคมของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคบเพื่อน การเข้ากับคนอื่น
5.             ความพร้อมของครูปกติที่จะรับเด็กที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรมอารมณ์เข้าเรียนร่วมชั้นเรียน
6.             ความร่วมมือจากผู้ปกครองในการปรับพฤติกรรมเด็ก
7.             ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
เด็กที่จะเรียนร่วมได้อย่างประสบผลสำเร็จนั้น ควรเป็นเด็กที่ได้รับการปรับพฤติกรรมแล้ว เด็กมีพฤติกรรมใกล้เคียงกับเด็กปกติ ผู้มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาควรพิจารณาว่า สมควรให้เด็กเข้ารับการเรียนร่วมในลักษณะใด หากเป็นการเรียนร่วมเต็มเวลา เด็กควรมีพฤติกรรมใกล้เคียงกับเด็กปกติ หากเด็กยังมีปัญหาทางพฤติกรรมอยู่บ้าง ก็ให้เรียนร่วมเต็มเวลาได้ แต่จะต้องได้รับบริการแนะแนวและให้คำปรึกษาหรือรับบริการจากครูเสริมวิชาการ
                ในบางครั้งเด็กมีปัญหาทางพฤติกรรมจะถูกส่งไปเรียนในหลักสูตรพิเศษซึ่งการกระทำเช่นนี้อาจทำให้เด็กบางคนมีความรู้สึกว่าถูกลงโทษ ส่วนครูที่สอนอาจมีความรู้สึกโล่งใจที่เด็กเกเรได้ถูกนำออกไปจากชั้นของตน และไม่อยากรับเด็กคนนี้เข้ามาในชั้นเรียนปกติ แม้ว่าเด็กจะได้รับการปรับพฤติกรรมแล้วก็ตาม สิ่งเหล่นนี้เป็นปัญหาสำคัญ ที่ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาสำหรับเด็กประเภทนี้ จะต้องร่วมกันพิจารณาและหาทางแก้ไขต่อไป

อาคารและสถานที่เรียน
                อาคารที่สำหรับเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์มีลักษณะเดียวกับใช้กับเด็กปกติ ควรจัดบริการกับเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมอารมณ์ในชุมชนที่มีเด็กประเภทนี้เป็นจำนวนมาก
                ครูการศึกษาพิเศษ หรือนักวิชาการศึกษาพิเศษจะเป็นผู้เสนอเกี่ยวกับครุภัณฑ์ที่จำเป็นในการศึกษาสำหรับเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ ให้ผู้มีอำนาจพิเศษพิจารณาตามลำดับ


การประเมินผล
                เป็นไปตามวิธีการและเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล


หนังสืออ้างอิง

ผดุง  อารยะวิญญ. (2542). การศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ. กรุงเทพ ฯ : บริษัทรำไทย
เพรส จำกัด
วารี  ถิระจิตร. (2534). การศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ. กรุงเทพ ฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น